วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดของตนเอง

บทที่ ๑ การกระทำที่เป็นละเมิด:หลักทั่วไป
   
          ความรับผิดในลักษณะนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของตนเองที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำใดจะเป็นละเมิดในลักณะนี้หรือไม่นั้น พิจารณาได้จากประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

          การกระทำที่เป็นละเมิด บทบัญัติมาตรา ๔๒๐ เป็นหลักทั่วไปของการกระทำที่เป็นละเมิด ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญ ๓ ประการ คือ
          ๑. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมาย
          ๒. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
          ๓. เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย

          เมื่อการกระทำใดเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ประการก็เป็นละเมิดอันเป็นหลักทั่วไป แต่มีบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติแตกต่างไป เช่น สันนิษฐานว่าผู้กระทำเป็นผู้ผิดหรือบัญญัติให้ผู้กระทำรับผิดเว้นแต่จะพิสูจน์แก้ตัวได้ กรณีเช่นนั้นย่อมจะวินิจฉัยไปตามบทบัญญัติเฉพาะกรณีนั้นๆไม่ใช้หลักทั่วไป


          หลักเกณฑ์การกระทำที่เป็นละเมิดดังกล่าว ตามหนังสือของท่านอาจารย์วารี  นาสกุล๔  แบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ

               ๑. ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
               ๒. ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมาย
               ๓. บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด และ
               ๔. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

          ถ้าการกระทำใดมิได้เข้าหลักเกณฑ์ครบทั้ง ๔ ข้อนี้ การนั้นก็ไม่เป็นละเมิดตามหลักทั่วไปนี้ ผู้กระทำไมต้องรับผิดเพื่อละเมิด บทบัญญัติในมาตรา ๔๒๐ นี้เป็นหลักทั่วไปสำหรับวินิจฉัยความรับผิดในกรณีที่มีการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นขึ้น มิได้หมายความว่าความรับผิดในกรณีละเมิดจะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลผู้ทำละเมิดตามมาตรา ๔๒๐ นี้เท่านั้น ในบางกรณีบุคคลอาจต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสัตว์สิ่งปูกสร้าง สิ่งของตกหล่น ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หรือทรัพย์อันตราย รวมทั้งอาจต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันบุคคลอื่นได้ทำขึ้นก็ได้


ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
     คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๒/๒๕๒๗ การขับรถยนต์จะผ่านทางรถไฟ แม้ไม่มีป้ายสัญญาณ "หยุด" บอกไว้ แต่ก็มีป้ายบอกเครื่องหมายว่ามีทางรถไฟข้างหน้าแสดงไว้ ซึ่งควรใช้ความระมัดระวังดูความปลอดภัยให้แน่เสียก่อน โดยชะลอความเร็วและหยุดรถมองซ้ายและขวา ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่าได้ปฏิบัติดังกล่าว เมื่อรถยนต์ที่จำเลยขับชนกับรถไฟ จึงเป็นความประมาทของจำเลย


_______________

๒. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง,หลักกฏหมายละเมิด,พิมพ์ครั้งที่ ๗(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน,๒๕๔๖),หน้า๑๖
๓. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้า๖
๔. วารี นาสกุล,คำอธิบายกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้,พิมพ์ครั้งที่ ๒ (ม.ป.ท.:สำนักพิมพ์พลสยามปริ้นติ้ง,๒๕๕๔),หน้า ๒๑-๒๒
๕. ไพจิตร ปุญญพันธุ์,คำอธิบายประมวลกฏหมายลักษณะละเมิด,พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์นิติบรรณการ,๒๕๔๓),หน้า ๑๑


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น