วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

บรรณานุกรม

๑. ไพจิตร ปุญญพันธุ์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด
            พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์นิติบรรณการ,๒๕๔๓.

๒. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง. หลักกฎหมายละเมิด. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน,๒๕๔๖.

๓. วารี นาสกุล. คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้.
             พิมพ์ครั้งที่ ๒. ม.ป.ท.:สำนักพิมพ์พลสยามปริ้นติ้ง,๒๕๕๔.

๔. ศักดิ์ สนองชาติ. คำอธิบายโดยย่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด และความรับผิด
             ทางละเมิด. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ,๒๕๔๐.

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์


            ความรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์ เนื่องจากทรัพย์มีเจ้าของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงบัญญัติให้เจ้าของ ผู้ปกครอง ผู้ควบคุม หรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากทรัพย์ ในฐานะที่ขาดความระมัดระวังในการใช้สอย บำรุงรักษาหรือควบคุมดูแลโดยถือว่ากระทำละเมิด อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑.     ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์
๒.    ความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้
๓.    ความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือน
๔.    ความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลและทรัพย์อันตราย

บทที่ ๑ ความเสียหายอันเกิดจากสัตว์
                มาตรา ๔๓๓ บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่สัตว์นั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
                อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เข้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆก็ได้
          สัตว์ตามมาตรานี้หมายความถึงสัตว์ทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าสัตว์เลี้ยงสัตว์ใหญ่สัตว์เล็กสัตว์ดุร้ายและสัตว์เชื่อง แต่จะต้องเป็นสัตว์มีเจ้าของซึ่งเจ้าของอาจเลี้ยงเองหรือมีผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ ถ้าเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ แม้จะก่อความเสียหายต่อบุคคลใด ก็ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะไม่มีผู้ที่จะรับผิด เช่น หนูในบ้าน ก. เข้าไปกัดแทะทรัพย์สินในบ้านของ ข. ก. ไม่ต้องรับผิดต่อ ข.

๑. ความเสียหายอันจะต้องรับผิดมีดังนี้
๑.๑ ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์โดยตรง
๑.๒ ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์มีส่วน
๒. ผู้รับผิด
๒.๑ เจ้าของ
๒.๒ ผู้รับเลี้ยงรับรักษา
๒.๓ ความรับผิดระหว่างเจ้าของกับผู้รับเลี้ยงรับรักษา
๓. ข้อยกเว้นความรับผิด
๓.๑ ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษา
๓.๒ ความเสียหายย่อมจะเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้นแล้ว
๔. ผู้รับผิดมีสิทธิไล่เบี้ย

บทที่ ๒ ความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้
                มาตรา ๔๓๔ บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อ ปัดป้องมิให้เกิดเสียหาย ฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
                บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
                ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

๑. ความเสียหายอันจะต้องรับผิด
                ๑.๑ ก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง
                ๑.๒ บำรุงรักษาไม่เพียงพอ
๒. ผู้รับผิด
                ๒.๑ ผู้ครอง
                ๒.๒ เจ้าของ
๓. ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ครอง
                ๓.๑ ความเสียหายเกิดจากการก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง
                ๓.๒ ความเสียหายเกิดจากการบำรุงรักษาไม่เพียงพอ
๔. ความเสียหายอันเกิดจากต้นไม้
๕. ผู้ครองหรือเจ้าของมีสิทธิไล่เบี้ย
๖. สิทธิเรียกให้บำบัดปัดป้องภยันตรายล่วงหน้า

บทที่ ๓ ความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือน
                มาตรา ๔๓๖ บัญญัติว่า บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
                ตามบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้ผู้อยู่ในโรงเรือนรับผิดเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากโรงเรือนซึ่งตนครอบครองอยู่ เพราะการที่ของตกหล่นหรือทิ้งขว้างไปโดยปราศจากความระมัดระวังย่อมแสดงว่าผู้อยู่ในโรงเรือนนั้นประมาทเลินเล่อ
๑. ความเสียหายอันจะต้องรับผิด
                ๑.๑ ของตกหล่นจากโรงเรือน
                ๑.๒ ของทิ้งขว้างจากโรงเรือน
๒. ผู้รับผิด
๓. ผู้รับผิดมีสิทธิไล่เบี้ย

บทที่ ๔ ความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลและทรัพย์อันตราย
                มาตรา ๔๓๗ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
          ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
                จากมาตรานี้พอจะอธิบายโดยแยกหลักเกณฑ์ได้ดังนี้ คือ
๑.     บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแล
๒.    ยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล
๓.    จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะนั้น
๔.    ข้อยกเว้นความรับผิด ถ้าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง
๕.    หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้กับบุคคลซึ่งมีทรัพย์อันตรายไว้ในครอบครองด้วย

_______________

. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้๑๕๕-๑๖๗
. วารี นาสกุล,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ , หน้า ๑๕๖

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น


อาจแยกพิจารณาความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นได้ดังนี้
๑.     นายจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
๒.    ตัวการรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทน
๓.    ผู้ว่าจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง
๔.    บิดามารดาหรือผู้อนุบาลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๕.    ครูบาอาจารย์นายจ้างหรือบุคคลผู้รับดูแลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๖.     ผู้ร่วมกันทำละเมิดรับผิดร่วมกัน
๗.    นิติบุคคลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล
๘.    หน่วยงานของรัฐรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

บทที่ ๑ นายจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
                มาตรา ๔๒๕ บัญญัติว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
                นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน (มาตรา ๕๗๕) นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างก็เฉพาะแต่ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.     ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น
๒.    ลูกจ้างกระทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง
๓.    ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง

บทที่ ๒ ตัวการรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทน
                มาตรา ๔๒๗ บัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้นท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
                เนื่องจากกิจการที่ตัวแทนทำเป็นงานของตัวการ กฎหมายจึงบัญญัติให้ตัวการร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในการกระทำกิจการแทนตัวการ โดยอนุโลมบังคับเช่นเดียวกับนายจ้างลูกจ้าง
๑.     ตัวการ คือ บุคคลซึ่งมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำกิจการแทนตน
๒.    ตัวแทน คือ บุคคลซึ่งมีอำนาจทำการแทนตัวการตามสัญญาหรือตามที่มอบหมายและกิจการนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม

บทที่ ๓ ผู้ว่าจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง
                มาตรา ๔๒๘ บัญญัติว่า ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
                ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างทำของ (มาตรา ๕๘๗) กล่าวคือผู้รับจ้างมีหน้าที่ทำงานตามสัญญาให้แก่ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
                ตามปกติผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง เพราะผู้ว่าจ้างต้องการเพียงผลสำเร็จแห่งงาน ไม่มีอำนาจออกคำสั่ง ผู้รับจ้างมีอิสระในการปฏิบัติงาน มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง เมื่อผู้รับจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น จึงต้องรับผิดในการกระทำของตนเองผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

บทที่ ๔ บิดามารดาหรือผู้อนุบาลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
                มาตรา ๔๒๙ บัญญัติว่า บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความะมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
                ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลผู้ไร้ความสามารถต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถด้วย ผู้ไร้ความสามารถตามมาตรานี้ จำกัดเฉพาะผู้เยาว์และบุคคลวิกลจริต จึงไม่หมายความรวมถึงคนเสมือนไร้ความสามารถ ขอแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี คือ
๑.     ผู้เยาว์กระทำละเมิด
๒.    บุคคลวิกลจริตกระทำละเมิด

บทที่ ๕ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลผู้ดูแลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
                มาตรา ๔๓๐ บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดีชั่วครั้งคราวก็ดีจำต้องรบผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
                ตามบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับดูแลซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ไร้ความสามารถตามข้อเท็จจริง ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๑.     ผู้ไร้ความสามารถ หมายความถึงผู้เยาว์ และบุคคลวิกลจริตไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่หมายความรวมถึงคนเสมือนไร้ความสามารถ
๒.    ผู้รับผิด ได้แก่ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแกผู้ไร้ความสามารถนั้น อันเป็นหน้าที่ดูแลตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าการดูแลนั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วครั้งคราว

บทที่ ๖ ผุ้ร่วมกันทำละเมิดรับผิดร่วมกัน
                มาตรา ๔๓๒ บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
                อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือวาเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
                ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
                การกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นอาจเกิดจากการกระทำของบุคคลหลายคนซึ่งกระทำร่วมกัน หรือต่างคนต่างกระทำ อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑.     การร่วมกันทำละเมิดตามมาตรา ๔๓๒
๒.    การทำละเมิดโดยต่างคนต่างทำ

_______________

๗. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้า ๘๖-๑๒๐

ละเมิดโดยการหมิ่นประมาท


               มาตรา  ๔๒๓  บัญญัติว่า ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันผ่าผืนต่อความเป็นจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้
                ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงทีส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
                บทบัญญัติมาตรานี้บัญญัติถึงการกระทำละเมิดอย่างหนึ่งเป็นเอกเทศนอกเหนือจากมาตรา ๔๒๐ เรียกกันว่าหมิ่นประมาทในทางแพ่ง อันรับรองว่าชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ทางเจริญของบุคคลเป็นสิทธิซึ่งอาจถูกกระทำละเมิดได้แม้จะมิใช่สิทธิตารมมาตรา ๔๒๐ ก็ตาม แต่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทด้วยข้อความจริง ซึ่งไม่เป็นละเมิดตามมาตรา ๔๒๓ นี้ (ฏีกาที่ ๑๒๔/๒๔๘๗) ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๔ บัญญัติไว้ว่าสิทธิของบุคคลในเกียรติยศ ชื่อเสียง ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ดังนั้น การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่นต่อสาธารณชนอันกระทบถึงเกียรติยศหรือชื่อเสียงของเขาไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือฝ่าฝืนต่อความจริงย่อมเป็นละเมิด เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

_______________

. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้า  ๗๒-๗๓

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดของตนเอง

บทที่ ๑ การกระทำที่เป็นละเมิด:หลักทั่วไป
   
          ความรับผิดในลักษณะนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของตนเองที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำใดจะเป็นละเมิดในลักณะนี้หรือไม่นั้น พิจารณาได้จากประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

          การกระทำที่เป็นละเมิด บทบัญัติมาตรา ๔๒๐ เป็นหลักทั่วไปของการกระทำที่เป็นละเมิด ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญ ๓ ประการ คือ
          ๑. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมาย
          ๒. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
          ๓. เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย

          เมื่อการกระทำใดเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ประการก็เป็นละเมิดอันเป็นหลักทั่วไป แต่มีบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติแตกต่างไป เช่น สันนิษฐานว่าผู้กระทำเป็นผู้ผิดหรือบัญญัติให้ผู้กระทำรับผิดเว้นแต่จะพิสูจน์แก้ตัวได้ กรณีเช่นนั้นย่อมจะวินิจฉัยไปตามบทบัญญัติเฉพาะกรณีนั้นๆไม่ใช้หลักทั่วไป


          หลักเกณฑ์การกระทำที่เป็นละเมิดดังกล่าว ตามหนังสือของท่านอาจารย์วารี  นาสกุล๔  แบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ

               ๑. ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
               ๒. ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมาย
               ๓. บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด และ
               ๔. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

          ถ้าการกระทำใดมิได้เข้าหลักเกณฑ์ครบทั้ง ๔ ข้อนี้ การนั้นก็ไม่เป็นละเมิดตามหลักทั่วไปนี้ ผู้กระทำไมต้องรับผิดเพื่อละเมิด บทบัญญัติในมาตรา ๔๒๐ นี้เป็นหลักทั่วไปสำหรับวินิจฉัยความรับผิดในกรณีที่มีการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นขึ้น มิได้หมายความว่าความรับผิดในกรณีละเมิดจะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลผู้ทำละเมิดตามมาตรา ๔๒๐ นี้เท่านั้น ในบางกรณีบุคคลอาจต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสัตว์สิ่งปูกสร้าง สิ่งของตกหล่น ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หรือทรัพย์อันตราย รวมทั้งอาจต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันบุคคลอื่นได้ทำขึ้นก็ได้


ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
     คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๒/๒๕๒๗ การขับรถยนต์จะผ่านทางรถไฟ แม้ไม่มีป้ายสัญญาณ "หยุด" บอกไว้ แต่ก็มีป้ายบอกเครื่องหมายว่ามีทางรถไฟข้างหน้าแสดงไว้ ซึ่งควรใช้ความระมัดระวังดูความปลอดภัยให้แน่เสียก่อน โดยชะลอความเร็วและหยุดรถมองซ้ายและขวา ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่าได้ปฏิบัติดังกล่าว เมื่อรถยนต์ที่จำเลยขับชนกับรถไฟ จึงเป็นความประมาทของจำเลย


_______________

๒. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง,หลักกฏหมายละเมิด,พิมพ์ครั้งที่ ๗(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน,๒๕๔๖),หน้า๑๖
๓. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้า๖
๔. วารี นาสกุล,คำอธิบายกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้,พิมพ์ครั้งที่ ๒ (ม.ป.ท.:สำนักพิมพ์พลสยามปริ้นติ้ง,๒๕๕๔),หน้า ๒๑-๒๒
๕. ไพจิตร ปุญญพันธุ์,คำอธิบายประมวลกฏหมายลักษณะละเมิด,พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์นิติบรรณการ,๒๕๔๓),หน้า ๑๑