วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น


อาจแยกพิจารณาความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นได้ดังนี้
๑.     นายจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
๒.    ตัวการรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทน
๓.    ผู้ว่าจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง
๔.    บิดามารดาหรือผู้อนุบาลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๕.    ครูบาอาจารย์นายจ้างหรือบุคคลผู้รับดูแลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๖.     ผู้ร่วมกันทำละเมิดรับผิดร่วมกัน
๗.    นิติบุคคลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล
๘.    หน่วยงานของรัฐรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

บทที่ ๑ นายจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
                มาตรา ๔๒๕ บัญญัติว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
                นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน (มาตรา ๕๗๕) นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างก็เฉพาะแต่ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.     ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น
๒.    ลูกจ้างกระทำละเมิดในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง
๓.    ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง

บทที่ ๒ ตัวการรับผิดในการกระทำละเมิดของตัวแทน
                มาตรา ๔๒๗ บัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้นท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม
                เนื่องจากกิจการที่ตัวแทนทำเป็นงานของตัวการ กฎหมายจึงบัญญัติให้ตัวการร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในการกระทำกิจการแทนตัวการ โดยอนุโลมบังคับเช่นเดียวกับนายจ้างลูกจ้าง
๑.     ตัวการ คือ บุคคลซึ่งมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำกิจการแทนตน
๒.    ตัวแทน คือ บุคคลซึ่งมีอำนาจทำการแทนตัวการตามสัญญาหรือตามที่มอบหมายและกิจการนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม

บทที่ ๓ ผู้ว่าจ้างรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง
                มาตรา ๔๒๘ บัญญัติว่า ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
                ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างมีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างทำของ (มาตรา ๕๘๗) กล่าวคือผู้รับจ้างมีหน้าที่ทำงานตามสัญญาให้แก่ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
                ตามปกติผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้รับจ้าง เพราะผู้ว่าจ้างต้องการเพียงผลสำเร็จแห่งงาน ไม่มีอำนาจออกคำสั่ง ผู้รับจ้างมีอิสระในการปฏิบัติงาน มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง เมื่อผู้รับจ้างกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น จึงต้องรับผิดในการกระทำของตนเองผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

บทที่ ๔ บิดามารดาหรือผู้อนุบาลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
                มาตรา ๔๒๙ บัญญัติว่า บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความะมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
                ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลผู้ไร้ความสามารถต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถด้วย ผู้ไร้ความสามารถตามมาตรานี้ จำกัดเฉพาะผู้เยาว์และบุคคลวิกลจริต จึงไม่หมายความรวมถึงคนเสมือนไร้ความสามารถ ขอแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี คือ
๑.     ผู้เยาว์กระทำละเมิด
๒.    บุคคลวิกลจริตกระทำละเมิด

บทที่ ๕ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลผู้ดูแลรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
                มาตรา ๔๓๐ บัญญัติว่า ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดีชั่วครั้งคราวก็ดีจำต้องรบผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
                ตามบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับดูแลซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ไร้ความสามารถตามข้อเท็จจริง ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
๑.     ผู้ไร้ความสามารถ หมายความถึงผู้เยาว์ และบุคคลวิกลจริตไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่หมายความรวมถึงคนเสมือนไร้ความสามารถ
๒.    ผู้รับผิด ได้แก่ ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแกผู้ไร้ความสามารถนั้น อันเป็นหน้าที่ดูแลตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าการดูแลนั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วครั้งคราว

บทที่ ๖ ผุ้ร่วมกันทำละเมิดรับผิดร่วมกัน
                มาตรา ๔๓๒ บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
                อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือวาเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
                ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น
                การกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นอาจเกิดจากการกระทำของบุคคลหลายคนซึ่งกระทำร่วมกัน หรือต่างคนต่างกระทำ อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
๑.     การร่วมกันทำละเมิดตามมาตรา ๔๓๒
๒.    การทำละเมิดโดยต่างคนต่างทำ

_______________

๗. ศักดิ์ สนองชาติ,อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑,หน้า ๘๖-๑๒๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น